ข้าว (Paddy crop)
ลักษณะ : เป็นพืชตระกูลหญ้า มีอายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรง ลักษณะกลมเล็กๆ มีข้อและปล้องกลวง เปลือกหนา มีขนหยาบปกคลุม และต้นมีสีเหลืองนวล ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะยาวรี ขอบใบเรียบ มีขนเล็กๆปกคลุม ผิวใบสากมือ และมีสีเขียว ผลเป็นเมล็ด อยู่เป็นช่อ มีลักษณะทรงรีเล็กๆ มีเปลือกแข็งแห้งหุ้มเมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีเขียว เมล็ดแก่มีสีเหลืองทอง
วิธีดูแลรักษาข้าว : ข้าวเจริญเติบโตได้ง่ายๆ เป็นพืชที่ชอบน้ำขัง โดนแดดได้ตลอดวัน จะทำให้โตได้เร็ว
การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว : การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว มีอายุประมาณ 4-6 เดือน หลังปลูกลงในแปลง ตามสายพันธุ์ เมล็ดข้าวมีสีเหลืองทอง จะสามารถเก็บเกี่ยวได้
ข้าวโพด (Corn)
ลักษณะ : เป็นพืชตระกูลหญ้า ใบเลี้ยงเดี่ยว มีอายุสั้นเพียงฤดูเดียว มีความสูงประมาณ 1-4 เมตร มีต้นเป็นปล้องสีเขียว ใบมีสีเขียวลักษณะเรียว ขนาดของใบแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยทั่วไปดอกตัวผู้จะบานก่อนดอกตัวเมีย และดอกตัวเมียมีลักษณะเป็นฝัก ฝักมีลักษณะทรงกระบอก หุ้มด้วยกาบบางๆหลายชั้นรอบฝัก ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่กาบจะแห้ง มีสีน้ำตาล ข้างในมีเส้นคล้ายเส้นไหมยาว หุ้มเมล็ดอยู่ประปราย และมีเมล็ดเรียงอยู่สม่ำเสมอ
วิธีดูแลรักษาข้าวโพด : ข้าวโพดเจริญเติบโตได้ง่ายๆ เป็นพืชที่ชอบน้ำ ต้องระบายน้ำดี น้ำไม่ขัง ต้องดูแลรดน้ำเสมอ โดนแดดได้ตลอดวัน จะทำให้โตได้เร็ว ช่วงเวลาการปลูกที่เหมาะสมของข้าวโพดในฤดูแล้ง คือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพด : เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเมื่อมีอายุประมาณ 4 เดือน หลังปลูก หรือเก็บเกี่ยวเมื่อแก่จัดหรือครบอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมแต่ละพันธุ์
มันสำปะหลัง (Cassava)
ลักษณะ : มันสำปะหลังจัดเป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นไม้พุ่มยืนต้น ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 1-5 เมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ใบเป็นแบบใบเดี่ยว มีร่องลึก 3-7 ร่อง มีหูใบ และก้านใบยาว มันสำปะหลัง มีราก 2 ชนิด คือ รากจริงเป็นแบบรากฝอย และรากสะสมอาหารที่เรียกกันทั่วไปว่า หัว (tuber) คือส่วนรากที่ขยายใหญ่เพื่อสะสมอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรต
วิธีดูแลรักษามันสำปะหลัง : มันสำปะหลังสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ เป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนต่อความแห้งแล้ง ปัญหาโรคและแมลงมีน้อย
การเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลัง: การเก็บเกี่ยวไม่ขึ้นกับฤดูกาลจึงสามารถจะชะลอการเก็บเกี่ยวได้ แต่ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุครบ 8 เดือนขึ้นไป โดยอายุที่เหมาะสมคือ 12 เดือน ไม่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกชุก
ยางพารา (Para rubber)
ลักษณะ : เป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ มีใบเลี้ยงคู่ รากเป็นระบบรากแก้ว ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านสาขาจะแตกออกมาก เนื้อไม้ของต้นยางจะเป็นไม้เนื้ออ่อนมีสีขาวปนเหลือง ส่วนผลยางมีลักษณะเป็นพูแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ภายใน และคล้ายเมล็ดละหุ่ง ส่วนสำคัญของต้นยางพารา คือ น้ำยาง ซึ่งเป็นของเหลวสีขาวถึงขาวปนเหลือง ขุ่นข้น อยู่ในท่อน้ำยาง ซึ่งเรียงตัวกันอยู่ในส่วนที่เป็นเปลือกของต้นยาง
วิธีดูแลรักษายางพารา : ต้นยางพาราเติบโตได้ดีในบริเวณที่ดินควรเป็นดินร่วน ระบายน้ำและอากาศดี น้ำไม่ท่วมขังมีความเป็นกรดเป็นด่าง 4.0-5.5 และไม่เป็นดินเค็ม
การเก็บเกี่ยวผลผลิตยางพารา : การเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากต้นยาง ต้นยางที่จะสามารถเปิดกรีดได้ต้องมีขนาดเส้นรอบต้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร (วัดที่ความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร) โดยปกติจะเริ่มเปิดกรีดในช่วงต้นฤดูหนาว (ประมาณเดือนพฤศจิกายน) ระบบกรีดที่เหมาะสม คือ ครึ่งลำต้น วันเว้นวัน
ปาล์มน้ำมัน (Oil Palm)
ลักษณะ : ปาล์มน้ำมันเป็นพืชตระกูลปาล์ม ลักษณะลำต้นเดี่ยว ตั้งตรง รูปร่างทรงกระบอก ขนาดลำต้นประมาณ 12 -20 นิ้ว เมื่ออายุประมาณ 1-3 ปี ลำต้นจะถูกหุ้มด้วยโคนกาบใบ แต่เมื่ออายุมากขึ้นโคนกาบใบจะหลุดร่วง โคนกาบใบจะมีลักษณะเป็นซี่ คล้ายหนามแต่ไม่คมมาก เมื่อไปถึงกลางใบหนามดังกล่าวจะพัฒนาเป็นใบ ใบเป็นรูปขนนก ประกอบด้วย แกน ทางใบ ก้านใบ และใบย่อย ทะลายปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย ก้านทะลาย ช่อทะลายย่อย และผล แต่ละทะลายมีปริมาณผล 45 -70 % หนักประมาณ 1-60 กิโลกรัม ส่วนผลไม่มีก้านผล รูปร่างมีตั้งแต่รูปเรียวแหลม จนถึงรูปไข่หรือรูปยาวรี ประกอบด้วยผิวเปลือกนอก ชั้นเปลือกนอก เป็นเนื้อเยื่อเส้นใย สีส้มแดงเมื่อสุกและมีน้ำมันอยู่ในชั้นนี้
วิธีดูแลรักษาปาล์มน้ำมัน : ปาล์มน้ำมันเหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้น อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ดินที่เหมาะสมเป็นดินร่วนเหนียวถึงดินเหนียว ฤดูปลูกที่เหมาะสม อยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝนควรปลูกเมื่อตกแล้ว เพราะดินมีความชื้นการปลูกในช่วงนี้ทำให้ต้นปาล์มน้ำมัน ตั้งตัวในแปลงได้ยาวนานก่อนถึงฤดูแล้ง
การเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมัน : ปาล์มน้ำมันเริ่มให้ผลผลิตในช่วงปีที่ 3 ลำต้นจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทะลายรุ่นใหม่ก็จะออกผลผลิต มีขนาดใหญ่ขึ้น และหลังจากผสมติดประมาณ 5 เดือน ก็สามารถตัดทะลายปาล์มที่สุกเต็มที่ไปจำหน่ายได้
อ้อย (Sugar cane)
ลักษณะ : อ้อยจัดเป็นพืชไม้ล้มลุก สูง 2-5 เมตร ลำต้นมีสีม่วงแดง มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเป็นพืชใบเดี่ยว เรียงสลับ ยาว 0.5-1 เมตร ขอบใบจักถี่เป็นหนามคม โคนใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด สีขาว ผลเป็นผลแห้ง ขนาดเล็ก เมล็ด แหลม รอบโคนมีปุยสีขาว อ้อยมีหลากหลายพันธุ์แตกต่างกันที่ความสูง ความยาวของข้อและสีของลำต้น
วิธีดูแลรักษาอ้อย : ดินที่ใช้ปลูกอ้อยควรเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียวอ้อย เป็นที่ดอนหรือที่ลุ่มที่ไม่มีน้ำท่วม ทนแล้ง และชอบแสงแดดจัด ฤดูปลูกที่เหมาะสมมี 2 ฤดู คือ ต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และปลายฤดูฝน ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย : ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออ้อยมีอายุ 10-14 เดือนหลังปลูก น ้าอ้อยมีความหวานมากกว่า 10 ซีซีเอส และควรตัดอ้อยตอส่งโรงงานก่อนอ้อยปลูก